GMP คืออะไร? ทำไมโรงงานที่ดีจึงต้องมีมาตรฐาน GMP พร้อมวิธีเช็ค

Last updated: 14 พ.ย. 2567  |  119 จำนวนผู้เข้าชม  | 

GMP คืออะไร? ทำไมโรงงานที่ดีจึงต้องมีมาตรฐาน GMP พร้อมวิธีเช็ค

ในชีวิตประจำวันของเราทุกคนล้วนต้องเลือกซื้อผลิตภัณฑ์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เครื่องดื่ม หรือเครื่องสำอาง แต่จะรู้ได้อย่างไรว่าผลิตภัณฑ์เหล่านั้นปลอดภัยและมีคุณภาพ? นั่นคือเหตุผลที่เราต้องรู้จัก "GMP" มาตรฐานที่จะรับประกันให้ผู้บริโภคได้ว่าทุกขั้นตอนการผลิตเป็นไปอย่างถูกต้องและปลอดภัย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคว่าจะได้รับผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุด และเกิดเป็น Brand Loyalty ที่หลายแบรนด์ใฝ่ฝัน

 

GMP คืออะไร? ย่อมาจากอะไร? 

GMP ย่อมาจาก Good Manufacturing Practice คือ มาตรฐานการผลิตที่มุ่งเน้นความปลอดภัยและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ยา เครื่องสำอาง และอาหารเสริม โดยครอบคลุมทุกขั้นตอนการผลิต ตั้งแต่การคัดเลือกวัตถุดิบ การผลิต การบรรจุ และการจัดเก็บ เพื่อให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ที่ถึงมือผู้บริโภคมีความปลอดภัยและได้มาตรฐาน โดยมาตรฐาน GMP อยู่ภายใต้การรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข

 

ทำไมมาตรฐาน GMP จึงสำคัญ

  • ความปลอดภัยของผู้บริโภค: เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการปนเปื้อนของสิ่งสกปรก เชื้อโรค หรือสารเคมีที่เป็นอันตรายในผลิตภัณฑ์
  • คุณภาพของผลิตภัณฑ์: เพื่อรักษาคุณภาพและประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้
  • ความน่าเชื่อถือของแบรนด์: การมีมาตรฐาน GMP เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคว่าผลิตภัณฑ์นั้นปลอดภัยและมีคุณภาพ ช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดี
  • การส่งออก: หลายประเทศมีข้อกำหนดให้ผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าต้องได้รับการรับรองมาตรฐาน GMP การมีใบรับรอง GMP จะช่วยอำนวยความสะดวกในการส่งออกผลิตภัณฑ์ไทยไปยังตลาดต่างประเทศ
  • เพื่อป้องกันปัญหาทางกฎหมาย: ผู้ผลิตที่ปฏิบัติตามมาตรฐาน GMP มั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์ของตนสอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานที่กำหนด ลดความเสี่ยงในการถูกฟ้องร้องจากผู้บริโภค
  • สอดคล้องกับมาตรฐานสากล: GMP ในไทยอ้างอิงจากมาตรฐาน Codex ซึ่งเป็นมาตรฐานสากล ทำให้ผลิตภัณฑ์ไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้

 

GMP มีกี่ประเภท?

1. GMP ทั่วไป (General GMP)

General GMP คือ มาตรฐานแบบทั่วไป เป็นหลักเกณฑ์พื้นฐานที่ใช้กับผลิตภัณฑ์ทุกประเภท โดยเน้นที่ความสะอาด สุขอนามัย และการควบคุมกระบวนการผลิตทั่วไป ครอบคลุมตั้งแต่การออกแบบโรงงาน การจัดวางพื้นที่การผลิต การทำความสะอาด การฆ่าเชื้อ การควบคุมแมลง และการจัดการบุคลากร

2. GMP เฉพาะผลิตภัณฑ์ (Specific GMP)

เป็นการขยายขอบเขตจาก GMP ทั่วไป มีการปรับมาตรฐานให้เหมาะสมกับลักษณะเฉพาะของแต่ละผลิตภัณฑ์  เช่น ยา เครื่องดื่ม และอาหารเสริม เพื่อควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด

 

4 ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ต้องปฏิบัติตามหลัก GMP

1. GMP สำหรับอาหาร (Food GMP)

เน้นเรื่องวัตถุดิบที่ใช้ การปรุงอาหาร การบรรจุภัณฑ์ และการเก็บรักษาอาหารให้คงคุณภาพ เช่น อาหารแปรรูป ต้องผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อเพื่อยืดอายุการเก็บรักษา นมเปรี้ยว ต้องควบคุมปริมาณเชื้อแบคทีเรียแลคติกให้เหมาะสม เพื่อให้ได้รสชาติและคุณภาพที่ต้องการ หรือแม้กระทั่งอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก ต้องควบคุมปริมาณสารอาหารและวิตามินให้ตรงตามฉลาก และต้องปราศจากสารปนเปื้อนที่เป็นอันตราย เป็นต้น


2. GMP สำหรับยา (Pharmaceutical GMP)

GMP สำหรับยา คือ มาตรฐานที่เข้มงวดและละเอียดอ่อนที่สุดในบรรดาผลิตภัณฑ์ทั้งหมด เนื่องจากเกี่ยวข้องกับสุขภาพของผู้ป่วยโดยตรง ยาแต่ละเม็ดต้องผ่านกระบวนการผลิตที่ถูกควบคุมอย่างเข้มงวด ตั้งแต่การควบคุมความสะอาดของโรงงาน การตรวจสอบวัตถุดิบ การควบคุมการบรรจุหีบห่อ ต้องมีการทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยาอย่างละเอียด รวมไปถึงการติดตามและตรวจสอบผลกระทบของยาในระยะยาว เพื่อให้มั่นใจว่ายาที่เราได้รับนั้นมีคุณภาพ ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพตามที่ระบุไว้


3. GMP สำหรับเครื่องสำอาง (Cosmetic GMP)

เน้นเรื่องความปลอดภัยของส่วนผสม มีการตรวจสอบความบริสุทธิ์ การทดสอบผลิตภัณฑ์ และการระบุส่วนผสมบนฉลาก เพื่อให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ออกสู่ตลาด ไม่ว่าจะเป็นลิปสติก รองพื้น ครีม โลชั่น หรือเซรั่ม ล้วนมีความปลอดภัยและเก็บรักษาในสภาพที่เหมาะสม ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง มีคุณภาพครบถ้วนตามที่ระบุไว้บนฉลาก


4. GMP สำหรับอาหารเสริม (Dietary Supplement GMP)

อาหารเสริมที่ผลิตตามมาตรฐานสูงสุดจะต้องปลอดภัยและมีคุณภาพ เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าไม่มีสารปนเปื้อนและไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยมีการควบคุมปริมาณส่วนผสมอย่างเข้มงวด เช่น กำหนดปริมาณวิตามินและสารสกัดจากสมุนไพรให้เหมาะสม พร้อมแจ้งให้ชัดเจนเกี่ยวกับปริมาณที่ควรทานต่อวัน เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด

 

รู้จักมาตรฐาน GMP ในโรงงานผลิตเครื่องสำอางและอาหารเสริม

การสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่ง คือ ความฝันของผู้ประกอบการทุกคน แต่กว่าจะไปถึงจุดนั้นได้ก็ต้องเจอกับโจทย์หลากหลายรูปแบบ ซึ่งโจทย์ที่ยากที่สุดสำหรับผู้ประกอบการ คือ การหาโรงงานที่ได้มาตรฐาน เรียกได้ว่าเป็นการเดิมพันครั้งใหญ่เลยก็ว่าได้ เพราะการลงทุนกับโรงงานที่ดีจะช่วยให้เราสร้างแบรนด์ที่แข็งแกร่งและเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว เพราะหากเลือกโรงงานผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน แน่นอนว่า ผลกระทบที่ตามมาคือการสูญเสียชื่อเสียงของแบรนด์ และความไว้วางใจจากลูกค้าที่สั่งสมมาอย่างยากลำบาก



แล้วท่ามกลางโรงงานรับผลิตเครื่องสำอางและอาหารเสริมกว่า 30,000 แห่งทั่วประเทศ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าโรงงานไหนได้มาตรฐาน? ปัจจัยสำคัญที่ควรพิจารณาในการเลือกโรงงานผลิตเครื่องสำอางและอาหารเสริม อันดับแรกคือ เลือกโรงงานผลิตที่ได้มาตรฐาน GMP ตามมาตรฐานสากล มีใบอนุญาตและการรับรองถูกต้องตามกฎหมาย เพราะมันคือหลักประกันว่าผลิตภัณฑ์ของคุณจะมีคุณภาพที่สม่ำเสมอ ปลอดภัย และเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค ที่สำคัญคือการพิจารณาประสบการณ์ของโรงงานการผลิต ยกตัวอย่าง โรงงานผลิตครีม Derma ที่มีประสบการณ์ผลิตครีม เครื่องสำอาง และอาหารเสริมโดยเฉพาะ จะมีความเข้าใจในลักษณะเฉพาะของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ เป็นอย่างดี โรงงานที่มีประสบการณ์จะสามารถคาดการณ์และแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการผลิตได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ พร้อมกับสามารถปรับปรุงสูตรผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตให้ดียิ่งขึ้นได้ตามความต้องการของลูกค้า

 

ข้อกำหนดมาตรฐาน GMP ครอบคลุมอะไรบ้างในโรงงานผลิตเครื่องสำอางและอาหารเสริม?

  • สถานที่ผลิต: ต้องสะอาด ถูกสุขลักษณะ มีการควบคุมอุณหภูมิและความชื้น มีการแบ่งพื้นที่การผลิตอย่างชัดเจน เช่น บริเวณรับวัตถุดิบ บริเวณผลิต บริเวณบรรจุภัณฑ์
  • อุปกรณ์และเครื่องจักร: ต้องทำความสะอาดและฆ่าเชื้ออย่างสม่ำเสมอ
  • วัตถุดิบ: ต้องมีคุณภาพ ตรงตามข้อกำหนด และมีการตรวจสอบก่อนนำไปใช้ มีการจัดเก็บวัตถุดิบอย่างถูกวิธี เพื่อป้องกันการปนเปื้อน
  • การควบคุมกระบวนการผลิต: ทุกขั้นตอนต้องมีการควบคุมและบันทึกข้อมูลอย่างละเอียด เช่น วันที่ เวลา ปริมาณที่ผลิต
  • สุขาภิบาล: เป็นเกณฑ์สำหรับสิ่งอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงาน เช่น ระบบกำจัดขยะมูลฝอย ทางระบายน้ำทิ้ง เป็นต้น
  • บุคลากร: พนักงานต้องได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับหลัก GMP และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด พร้อมสวมใส่ชุดปฏิบัติงานที่สะอาดและปราศจากเชื้อโรค
  • การบรรจุภัณฑ์: บรรจุภัณฑ์ต้องป้องกันไม่ให้ผลิตภัณฑ์เสียหาย และมีการติดฉลากระบุข้อมูลผลิตภัณฑ์อย่างถูกต้อง เช่น ชื่อผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบ วันหมดอายุ
  • การทำความสะอาดและฆ่าเชื้อ: มีการทำความสะอาดและฆ่าเชื้ออุปกรณ์ เครื่องจักร และพื้นที่การผลิตเป็นประจำ
  • การควบคุมคุณภาพ: มีการเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เพื่อนำไปวิเคราะห์คุณภาพ พร้อมตรวจสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปก่อนนำออกจำหน่าย
  • การจัดเก็บและการขนส่ง: มีการควบคุมอุณหภูมิและความชื้น เพื่อรักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์  ควบคู่ไปกับเอกสารประกอบการขนส่ง และการมีระบบติดตามตรวจสอบที่ทันสมัย 

    มาตรฐาน GMP ไม่เพียงแต่กำหนดหลักเกณฑ์ในการผลิตที่สะอาดและปลอดภัย แต่ยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการจัดการข้อมูล การวิเคราะห์ปัญหา และการปรับปรุงระบบอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทั้งหมดนี้มีส่วนช่วยในการสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคว่าผลิตภัณฑ์ที่ได้รับมีความปลอดภัยและมีคุณภาพสูงที่สุด

 

วิธีตรวจสอบว่าผลิตภัณฑ์/โรงงานได้มาตรฐาน GMP หรือไม่?

1. เข้าไปที่เว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา fda.moph.go.th หากต้องการตรวจสอบการอนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพ สามารถพิมพ์ชื่อผลิตภัณฑ์ และกดค้นหาได้เลย

2. หากต้องการตรวจสอบโรงงานหรือบริษัท ให้เลื่อนลงมาแล้วทำการเลือกลิงก์หน่วยงานที่ต้องการตรวจสอบ เช่น กลุ่มควบคุมเครื่องสำอาง แล้วเลือกรายชื่อสถานประกอบการที่ได้รับรองมาตรฐาน GMP เครื่องสำอาง 

3. ระบบจะโชว์รายชื่อสถานประกอบการที่ได้รับรองมาตรฐาน GMP เครื่องสำอาง

 

รับรองมาตรฐาน GMP กับ 15 ปีแห่งความเชี่ยวชาญ ลูกค้าเลือก Derma Innovation

อยากได้ผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุด เลือก Derma Innovation ที่เป็นที่ยอมรับในวงการอุตสาหกรรมเครื่องสำอางและอาหาร ทุกขั้นตอนการผลิตถูกควบคุมอย่างเข้มงวดภายใต้มาตรฐานสากล ไม่ว่าจะเป็น GMP, ASEAN GMP, ISO 9001, ISO 22716, FDA และ Green Industry ทำให้ผู้ประกอบการสามารถส่งออกและเปิดตลาดใหม่ ๆ ในอนาคตได้อย่างมั่นใจ พร้อมได้รับคำแนะนำจากทีมงานผู้เชี่ยวชาญ ตั้งแต่ขั้นตอนการพัฒนาสูตร การผลิตที่ได้มาตรฐานสากล การเลือกบรรจุภัณฑ์ที่โดดเด่น ไปจนถึงการวางแผนกลยุทธ์เพื่อจัดจำหน่ายสู่ตลาดเป้าหมาย ทำให้แบรนด์ของคุณได้เปรียบและกลายเป็นตัวเต็งในตลาดการแข่งขัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้