รู้ทัน!! เครื่องสำอางปลอม สวยไม่คุ้มเสีย

Last updated: 19 ก.ย. 2566  |  2829 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รู้ทัน!! เครื่องสำอางปลอม สวยไม่คุ้มเสีย

รู้ทัน!! เครื่องสำอางปลอม สวยไม่คุ้มเสีย


             จากข้อมูลของ Statista เผยผลสำรวจตลาดเครื่องสำอางโลก ในปี 2560 (2017) สร้างรายได้รวม 532.43 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะเติบโตไปถึง 805.61 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2566 (2023) ดูจากสถิติที่สะท้อนความต้องการในการใช้เครื่องสำอางของผู้บริโภค มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้คนหันมาให้ความสำคัญกับเทรนด์การดูแลสุขภาพผิว และใบหน้าตัวเองให้อ่อนวัยมากขึ้น รวมถึงผู้ผลิตเองก็พยายามจะสื่อสารให้ผู้บริโภคเห็นว่าเครื่องสำอางสามารถเข้าถึงได้ง่าย และใช้ได้กับทุกกลุ่ม ไม่ใช่แค่กับผู้หญิงอย่างเดียวเท่านั้น จึงทำให้ธุรกิจอุตสาหกรรมนี้ขยายตัวเพิ่มฐานผู้บริโภค แต่ถึงอย่างนั้น มีผู้ผลิตหลายเจ้าที่ใช้การเติบโตนี้สร้างผลประโยชน์ส่วนตัวโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย และจงใจให้ผู้บริโภคเป็นเหยื่อที่นอกจากเสียทรัพย์แล้ว ยังเสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพ และชีวิตได้ รวมถึงผู้ผลิตในวงการเครื่องสำอางที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน นั่นคือ การผลิตเครื่องสำอางปลอม (counterfeit cosmetics) ออกมาจำหน่ายนั่นเอง

 

การปลอมแปลง (counterfeiting) คืออะไร

 

 

         การกระทำที่ไม่ได้รับอนุญาต และมีเจตนาเลียนแบบ ปลอมแปลง หรือ ทำซ้ำตามผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่จดแจ้งถูกกฎหมาย โดยตั้งใจทำเพื่อหลอกลวงผู้บริโภคให้เข้าใจว่ากำลังซื้อสินค้าของแท้ (authentic goods) ภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อให้ขายได้กำไร (financial profit) ซึ่งเป็นประโยชน์ส่วนตัวที่สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น ถือว่าเป็นการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา (an infringement of intellectual property right) เหตุการณ์แบบนี้ไม่ได้เกิดแค่เฉพาะกับอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง แต่ยังแพร่ไปถึงวงการอาหาร ยา และเครื่องแต่งกาย เป็นต้น แทบทุกประเภทเครื่องสำอางเราเคยได้ยินข่าวผ่านทางสื่อโทรทัศน์เรื่องการปลอมแปลง ไม่ว่าจะเป็นน้ำหอม เครื่องสำอางตกแต่งใบหน้า หรือสกินแคร์
 

สาเหตุอะไรบ้างที่ทำให้มีผู้ผลิตผิดกฎหมายจำนวนมากหันมาปลอมแปลงเครื่องสำอาง

 

 เครื่องสำอางปลอมสามารถวางจำหนายได้ในราคาที่ถูกกว่าหลายเท่า เมื่อเทียบกับเครื่องสำอางของแท้

 ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเพิ่มโอกาสให้ผู้ผลิตผิดกฎหมายเข้าถึงทุกระดับชั้นสังคมในหลายเรื่องได้มากขึ้น จึงช่วยให้กลุ่มคนเหล่านี้เพิ่มกำลังการผลิตเครื่องสำอางปลอมในปริมาณที่สูงขึ้น อีกทั้งสินค้าที่ได้มีความคล้ายคลึงของแท้มากขึ้นจนแยกไม่ออกหากผู้บริโภคไม่ได้สังเกต หรือ ระวังเป็นพิเศษ

 ความเสี่ยงทางธุรกิจต่ำ (low business risk) เพราะต้นทุนการผลิตและค่าโสหุ้ย (overhead cost) ต่ำกว่ามากเมื่อเทียบกันสินค้าของแท้ วัตถุดิบที่ใช้ผลิตมักมีคุณภาพต่ำกว่าระดับมาตรฐานที่กำหนด อีกทั้งค่าใช้จ่ายในการลงทุน (investment cost) น้อย ไม่จำเป็นต้องมีการพัฒนาสูตร และทำงานวิจัยรองรับ

 ศักยภาพตลาด (marketing potential) มีขนาดใหญ่ เพราะมีกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้ต่ำกว่าระดับปานกลางรองรับ เนื่องจากไม่มีกำลังมากพอในการซื้อสินค้าของแท้ อีกทั้งโครงสร้างพื้นฐานทางกฎหมายยังมีช่องโหว่ และไม่เข้มงวดรัดกุม ส่งเสริมให้เกิดความสนใจในการปลอมแปลงเครื่องสำอางเพิ่มขึ้น

 การแข่งขันกับเครื่องสำอางที่ได้รับความนิยมสูงในตลาดทำได้ยาก แต่การปลอมแปลงโดยใช้ความนิยมของเครื่องสำอางถูกกฎหมายนั้นมาสร้างยอดขายสินค้าปลอมของตนเองทำได้ง่ายและเร็วกว่า

 

          เพราะสุดท้ายการมีสินค้าหน้าตาคล้ายของแท้ อีกทั้งราคาถูกเป็นจุดที่ผู้ผลิตผิดกฎหมายตั้งใจสร้าง และดึงความสนใจได้ดีจากผู้บริโภค โดยที่ไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค เมื่อการผลิตนี้มีเจตนากระทำผิดกฎหมายซึ่งไม่เป็นไปตามระเบียบการของกระทรวงสาธารณสุข เครื่องสำอางปลอมจึงมักตรวจเจอการปนเปื้อนของโลหะหนัก ได้แก่ ตะกั่ว สารหนู ทองแดง ปรอท เบริลเลียม ไซยาไนด์ แคดเมียม อะลูมิเนียม รวมถึงน้ำยาลอกสี (paint stripper)เชื้อจุลินทรีย์ มูลสัตว์ ยูรีน ซึ่งเป็นสารต้องห้าม และเกินปริมาณที่กำหนด ส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ทั้งในระยะสั้น และยาว

          ในขณะที่การผลิตเครื่องสำอางได้ตามมาตรฐาน จำเป็นต้องให้ความใส่ใจรายละเอียดตั้งแต่คุณภาพวัตถุดิบตลอดจนกระบวนการผลิตที่ใช้เครื่องจักรที่ได้รับการทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรค รวมถึงคนทำงานที่เกี่ยวข้องมีการแต่งกายรัดกุม หลีกเลี่ยงโอกาสการปนเปื้อนให้ได้มากที่สุด อีกทั้งการวิเคราะห์ลักษณะขนส่งที่เหมาะสมเพื่อให้คงคุณภาพสินค้าจนกว่าจะถึงมือผู้บริโภค เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ และทำให้ผู้บริโภครู้สึกไว้วางใจในสินค้าและแบรนด์ของผู้ผลิตได้
 
 

ลักษณะสินค้าปลอมแปลงสังเกตจากอะไรได้บ้าง

 

  • ราคาจำหน่ายที่ได้รับส่วนลด 3 – 5 เท่า ซึ่งมากอย่างน่าสงสัย
  • สินค้าของแท้ที่มีชื่อเสียงจะมีราคาจำหน่ายสูงในต่างประเทศโซนทวีปยุโรป อเมริกา และแม้จะผลิตในประเทศจีนก็ตาม
  • สินค้าที่วางจำหน่ายตามตลาดนัดและผู้ขายที่ไม่ได้มีใบอนุญาต ผู้ผลิตถูกต้องตามกฎหมายมักให้ความสำคัญ และตัดสินใจอย่างรอบคอบที่จะเลือกใครมาเป็นผู้แทนขายเครื่องสำอางของตน
  • กลิ่น และบรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์จะมีความแตกต่างเล็กน้อยจากสินค้าของแท้ สามารถหาจุดแตกต่างได้หากพิจารณาสังเกต
  • มักโฆษณาจำหน่ายสินค้าว่าเป็นของมีจำกัด ในขณะที่ผู้ผลิตถูกต้องตามกฎหมายไม่มีโปรโมชั่นหรือข้อเสนอนี้สื่อไปยังผู้บริโภค


         เพราะฉะนั้น ควรเลือกซื้อสินค้าของแท้อย่างชาญฉลาด โดยรู้จักวิธีการมองหาจุดแตกต่างที่บ่งชี้ว่าเป็นของปลอมแปลงได้

         วิธีที่ทำได้ง่าย ลดและหลีกเลี่ยงโอกาสการถูกล่อหลวง คือ ซื้อสินค้าจากตัวแทนจำหน่ายที่เป็นที่รู้จักและได้รับอนุญาตในการขาย ร้านขายยาหรือห้างสรรพสินค้า สำหรับการซื้อสินค้าบนแพลทฟอร์มออนไลน์ เลือกซื้อสินค้าจากร้านที่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง เช่น ผู้ขายบน Amazon ที่ได้รับการตรวจสอบเข้มงวด แต่วิธีดังกล่าวข้างต้นก็ไม่สามารถป้องกันได้ 100% อ้างอิงจากสถิติ Precedence ปัจจุบันตลาดเทคโนโลยีที่สร้างสรรค์วิธีการตรวจสอบความถูกต้อง (authentication technology) ผ่าน anti-counterfeit cosmetic packaging บนบรรจุภัณฑ์ว่าสินค้าใดเป็นของแท้มีแนวโน้มสูงขึ้นไปในทางเดียวกัน ยกตัวอย่าง Holograms, Barcodes, RFID tags และ Security labels เป็นต้น เนื่องจากการปลอมแปลงสินค้าปลอมมักพบมากในประเภทสินค้าฟุ่มเฟือย authentication technology จึงมักถูกใช้และพบได้บ่อยในอุตสาหกรรมสินค้าประเภทนี้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้