Last updated: 5 ธ.ค. 2567 | 225 จำนวนผู้เข้าชม |
เมลาโทนินในสกินแคร์ ใช้แล้วไม่ง่วง
เวลาเราเห็นคนรู้จักที่หน้าดูโทรมเหนื่อยล้า ถุงตาใหญ่ ขอบตาดำแพนด้า ผิวหมองไม่สดใส เมื่อลองย้อนมองทั้งตัวเราเองและผู้อื่น ปฏิเสธไม่ได้ว่าบ่อยครั้งที่มักตั้งคำถามเชื่อมโยงไปถึงการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ ด้วยยุคปัจจุบันการนอนหลับอย่างมีคุณภาพเป็นไปได้ยาก ซึ่งอาจเกิดจากปัจจัยความเครียดสะสม ทำงานหนัก หรือพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป อาหารเสริมที่มีเมลาโทนินเป็นส่วนผสมเพื่อการนอนที่ดีขึ้นจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้คนหันมาพึ่งพา เนื่องด้วย เมลาโทนิน (Melatonin) เป็นสารฮอร์โมนที่ร่างกายสามารถผลิตได้เองตามธรรมชาติจากต่อมไร้ท่อไพเนียลขนาดเล็กเท่าเม็ดถั่วซึ่งอยู่บริเวณกลางสมอง เมลาโทนินจะถูกหลั่งออกมาในช่วงเวลาพระอาทิตย์ตกดิน และลำเลียงไปตามกระแสเลือด จนเกิดอาการง่วงนอน เป็นสัญญาณให้ร่างกายว่าถึงเวลานอนหลับพักผ่อนแล้ว ตามนาฬิกาชีวิต
ในบทความนี้ มิสเดอร์มาจะพาผู้อ่านได้หยิบยกแง่มุมการนำสารเมลาโทนินมาประยุกต์ใช้ประโยชน์ในวงการสกินแคร์ แน่นอนว่าไม่ได้ทำให้เกิดอาการง่วงแต่อย่างใดตามที่ใครหลายคนเข้าใจ งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ได้กล่าวว่านอกเหนือจากฮอร์โมนเมลาโทนินถูกหลั่งผ่านต่อมไร้ท่อไพเนียลแล้ว พบว่าผิวหนัง (Skin) มีกระบวนการโดยตรงที่เกี่ยวข้องกับสารเมลาโทนินทั้งในเชิงสังเคราะห์และย่อยสลายทางชีวภาพ เริ่มต้นจากสารตั้งต้นกรดอะมิโน “ทริปโตเฟน”
Tryptophan 5-OH-Trytophan เซโรโทนิน (Serotonin) N-acetylserotonin Melatonin ตามลำดับ
การทำงานของสารเมลาโทนินถูกขับเคลื่อนผ่าน 2 กลุ่มตัวรับสัญญาณ (receptor) ได้แก่ บริเวณเยื่อหุ้มเซลล์ (membrane receptor: MT1 receptor และ MT2 receptor) และบริเวณนิวเคลียสภายในเซลล์ (nuclear receptor: RORα1, RORα2, RORα3 และ RORα4) พบได้ในต่อมรากผม เคราติโนไซต์ ผิวหนัง เมลาโนไซต์ ไฟโบรบลาสต์ ต่อมเหงื่อ เซลล์วงรอบในของรากผม และหลอดเลือดในชั้นผิวหนัง เป็นต้น อีกทั้งสารเมลาโทนินยังสามารถทำงานโดยอิสระจากกลุ่มตัวรับสัญญาณดังกล่าวได้เช่นกัน
ประโยชน์เมลาโทนินในสกินแคร์ที่น่าสนใจ
สารต้านอนุมูลอิสระทรงพลัง
- กลไกทางตรง (Direct Effect) : ด้วยโครงสร้างเมลาโทนินสามารถเข้ากำจัดอนุมูลอิสระได้หลากหลายกลุ่ม เช่น hydrogen peroxide (H2O2), hydroxyl radical (OH•), singlet oxygen (1O2), superoxide anion (•O2-), peroxynitrite anion (ONOO-) และ peroxyl radical (LOO•) เป็นต้น เรียกได้ว่ามีคุณสมบัติเป็น “broad antioxidant/ radical scavenger”
- กลไกทางอ้อม (Indirect Effect) : เพิ่มกิจกรรมการทำงาน และลึกลงไปถึงการกระตุ้นการถอดรหัสพันธุกรรมในระดับ mRNA ของเอนไซม์ที่มีประสิทธิภาพเป็นสารต้านอนุมูลอิสระให้มากขึ้น เช่น manganese superoxide dismutase (Mn-SOD), copper-zinc superoxide dismutase (Cu/Zn-SOD), GPx และ gamma-glutamylcysteine synthetase (GCS) เป็นต้น โดยกระตุ้นผ่าน membrane/ nuclear receptor
เมลาโทนินเมทาบอไลต์ สารต้านอนุมูลอิสระต่อเนื่อง
เมื่อผิวหนังเจอกับรังสีแสงแดด จะกระตุ้นให้เกิดการสร้างอนุมูลอิสระเพิ่มสูงขึ้น เมลาโทนินซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระจะช่วยต่อต้านปริมาณอนุมูลอิสระเพื่อรักษาให้อยู่ระดับสมดุล หลังจากนั้นเมลาโทนินจะสลายเปลี่ยนเป็นเมลาโทนินเมทาบอไลต์ (melatonin metabolites) เช่น 2-OH-Mel และ 4-OH-Mel และนำไปสู่การเพิ่มปริมาณสาร AFMK และ AMK ในเวลาถัดมา ตามลำดับ ซึ่งเหล่าสารเมลาโทนินเมทาบอไลต์ที่ถูกสังเคราะห์ขึ้นดังกล่าวยังคงให้ประโยชน์ต่อเนื่องจากเมลาโทนินเพราะมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระเช่นเดียวกัน ช่วยลดการเสื่อมสภาพของไขมัน โปรตีน ไมโทคอนเดรีย หรือ DNA ในชั้นผิว แสดงในรูปภาพด้านล่าง นอกจากนี้ AFMK ยังมีความโดดเด่นในประสิทธิภาพต้านการอักเสบ