สารกันเสีย Preservative (free) ในครีมคืออะไร ?

Last updated: 29 มี.ค. 2567  |  3137 จำนวนผู้เข้าชม  | 

 สารกันเสีย Preservative (free) ในครีมคืออะไร ?

          คำว่า “Preservative Free (ปราศจากสารกันเสีย/ วัตถุกันเสีย/ สารกันบูด)” ดูจะเป็นคำที่คนให้ความสนใจไม่น้อยโดยเฉพาะในวงการอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง มักเจอปรากฏบ่อยครั้งบนฉลากด้านหน้าผลิตภัณฑ์ และสื่อโฆษณาออนไลน์ หลังจากได้รับอิทธิพลจากการตื่นตัว และวิตกกังวลเรื่องการใช้สารกันเสียพาราเบนในสูตรตำรับเครื่องสำอางตั้งแต่นั้นมาจึงมีวัตถุประสงค์หลักหยิบมาใช้เล่นทางการตลาดเพื่อสื่อสารไปถึงผู้บริโภคในแง่ความปลอดภัย และความอ่อนโยนของผลิตภัณฑ์ซึ่งตามหลักความเป็นจริงไม่สามารถชี้ชัดได้จากชนิดสารกันเสียเพียงอย่างเดียว จำเป็นต้องพิจารณาส่วนผสมอื่นๆ ที่ใส่ในสูตรตำรับเครื่องสำอางร่วมด้วย

           ย้อนกลับมาคุยความสำคัญของการใส่วัตถุกันเสียในเครื่องสำอาง ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขให้ความหมาย “วัตถุกันเสีย (preservative)” ว่า “วัตถุที่ใช้ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ของเครื่องสำอาง” หรือให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ ส่วนผสมที่ใส่เข้าไปในสูตรตำรับเครื่องสำอางเพื่อรักษาความเสถียรภาพในด้านประสิทธิภาพและลักษณะเนื้อผลิตภัณฑ์ให้คงปกติดีโดยไม่เปลี่ยนสภาพอันเกิดจากจุลินทรีย์ ตลอดอายุการใช้งาน (shelf life) ที่กำหนดบนบรรจุภัณฑ์ เนื่องด้วยผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่มีองค์ประกอบน้ำ ระดับค่า pH และอุณหภูมิที่เอื้อต่อการเป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อจุลินทรีย์ให้เจริญเติบโตได้ดี อีกทั้งก็เพื่อปกป้องสุขภาพ และความปลอดภัยของผู้บริโภคโดยลดความเสี่ยงจากผลิตภัณฑ์ที่มีการปนเปื้อนหรือเน่าเสีย

          ถึงแม้สารกันเสียจะมีความสำคัญ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการชูคำว่า Preservative Free มาเน้นย้ำให้เป็นเอกลักษณ์จุดแข็งเฉพาะตัวของผลิตภัณฑ์มาแรงถึงขั้นสามารถดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคและกลายเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ใช้ในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า การขึ้นสูตรตำรับเครื่องสำอางแบบ Preservative Free สามารถทำได้โดยผ่านการตีความหมายได้ 2 แง่หลัก นั้นคือ

  1. สูตรตำรับเครื่องสำอางที่ไม่ใส่วัตถุกันเสียที่มีในรายการขึ้นทะเบียนโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข แต่ใส่สารอื่นที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนซึ่งมีฤทธิ์ต้านการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ได้สูตรตำรับเครื่องสำอางที่ไม่ใส่วัตถุกันเสียไม่ว่าจะอยู่ในรายการขึ้นทะเบียนหรือไม่ แต่เป็นการออกแบบพัฒนาให้สูตรมีสภาวะไม่เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ ได้แก่

  ระดับพลังงานของน้ำ (water activity: aw ≤ 0.6) ในสูตรอยู่ในจุดที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์

  anhydrous form คือ ไม่มีส่วนประกอบของน้ำ หรือมีสัดส่วนน้ำในปริมาณที่น้อยมาก

  ความเป็นกรด-ด่างสูงของสูตร ได้แก่ pH < 3 หรือ pH > 10

  มีส่วนประกอบของแอลกอฮอล์เอทานอลอย่างน้อย 20% หรือสาร humectant อย่างน้อย 40%

  เงื่อนไขในวิธีกระบวนการผลิต ยกตัวอย่าง อุณหภูมิของเนื้อผลิตภัณฑ์สูงพอที่เชื้อแทบจะไม่เจริญเติบโต ราว 65 องศาเซลเซียสขณะบรรจุใส่บรรจุภัณฑ์

  รูปแบบบรรจุภัณฑ์: บรรจุภัณฑ์แบบอัดความดัน (pressurized container) บรรจุภัณฑ์แบบหัวปั๊ม (pump dispenser) หรือบรรจุภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียว (single dose unit)

          นอกจากนี้ยังมีการทดสอบ challenge test หรือ preservative efficacy test (PET) เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพระบบการรักษาสภาพ (preservative system) ของสูตรเครื่องสำอางนั้น ๆ โดยการนำเนื้อผลิตภัณฑ์ไปทำการทดลองให้ปนเปื้อนด้วยสารก่อโรค 5 สายพันธุ์ ได้แก่ (1) Staphylococcus aureus (gram-positive bacterium), (2) Pseudomonas aeruginosa (gram-negative bacterium), (3) Candida albicans (fungus), (4) Escherichia coli (gram-negative bacterium) และ (5) Aspergillus brasiliensis (fungus) หลังจากนั้นสังเกตและวิเคราะห์ความหนาแน่น/เข้มข้นของเชื้อจุลินทรีย์ในจานเพาะเชื้อว่ามีการเปลี่ยนไปอย่างไร ตามเกณฑ์ในระเบียบการมาตรฐาน ISO11930:2019

          ทั้งนี้จะต้องไม่มีเชื้อทั้ง 3 ตัวอันดับแรกดังกล่าวข้างต้นปนเปื้อนในเครื่องสำอางและจำนวนรวมของจุลินทรีย์ที่ไม่ก่อให้เกิดโรคควรจะค่อนข้างต่ำ เพราะแม้ว่าจะเป็นจุลินทรีย์ที่ไม่ก่อให้เกิดโรค แต่ในบางสภาวะ เช่น ผู้ที่เจ็บป่วย ภูมิต้านทานลดลง หรือผิวหนังถลอกเกิดบาดแผล จุลินทรีย์กลุ่มนี้อาจก่อให้เกิดปัญหาได้

          มิสเดอร์มาหวังว่าบทความนี้จะช่วยให้ผู้อ่านเห็นถึงความสำคัญและคุณประโยชน์ของสารกันเสียถึงเหตุผลว่าทำไมแนะนำให้ควรใส่ในสูตรตำรับเครื่องสำอาง หากมีประโยชน์อย่าลืมแชร์ให้เพื่อนคนอื่นได้อ่านกันด้วยนะคะ ไว้เจอกันใหม่บทความหน้าค่ะ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้