Last updated: 23 ก.พ. 2567 | 2794 จำนวนผู้เข้าชม |
ไบโอติก (Biotic) เป็นคำที่วนเวียนผ่านตาและได้ยินบ่อยครั้ง อีกทั้งคนจำนวนไม่น้อยที่เลือกใช้ผลิตภัณฑ์กลุ่มไบโอติกในชีวิตประจำวันแบบที่ไม่รู้ว่าคืออะไรแล้วซื้อมาก็มีค่ะ วันนี้มิสเดอร์มาจะพาผู้อ่านมาทำความรู้จักความหมายคำศัพท์กลุ่มไบโอติกและความสำคัญที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางค่ะ
เริ่มต้นที่เรื่องร่างกายของเรามีเพื่อนสิ่งมีชีวิตตัวจิ๋วขนาดเล็กมากจนไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าจำนวนนับล้านอาศัยอยู่ เรียกว่า จุลินทรีย์ (microorganism) โดยมีร่างกายมนุษย์เป็นเจ้าบ้าน (host) ส่วนคำว่า microbiota ใช้กล่าวถึงกลุ่มจุลินทรีย์เฉพาะตำแหน่ง (local area) ของร่างกายซึ่งเป็นระบบนิเวศที่เอื้อต่อการดำรงอยู่มีความแตกต่างด้านชนิดและปริมาณการเจริญเติบโตจุลินทรีย์ด้วยปัจจัยทั้งจากภายในตามพันธุกรรมและภายนอกตามไลฟ์สไตล์ เพราะฉะนั้นจึงเป็นตัวชี้วัดที่บ่งบอกสภาวะสุขภาพแต่ละบุคคลที่ไม่เหมือนกันได้นั่นเอง
โพรไบโอติกส์ (Probiotics) คือ จุลินทรีย์ที่มีชีวิตซึ่งเมื่อร่างกายได้รับในปริมาณที่เพียงพอจะทำให้เกิดผลที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ไม่ดี พร้อมกระตุ้นกลุ่มจุลินทรีย์ดีให้มีมากพอทำหน้าที่ป้องกันการรุกราน คงความสมดุลการทำงานของร่างกายและลดการก่อโรคได้ นิวทริไบโอติกส์ (Nutribiotics) คือ โพรไบโอติกที่สังเคราะห์สารอาหารสำคัญให้ร่างกายเจ้าบ้าน เช่น วิตามิน แร่ธาตุ รวมถึงยังเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนสารตั้งต้น (precursors) เป็นสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ (bioactive metabolites) ที่ใช้ในกิจกรรมร่างกายอีกด้วย เป็นต้น
พรีไบโอติกส์ (Prebiotics) คือ อาหารเลี้ยง ที่โพรไบโอติกชอบและช่วยเสริมการเจริญเติบโตได้ดี
โพสไบโอติกส์ (Postbiotics) คือ สารผลิตผลที่ได้หลังกระบวนการจุลินทรีย์ย่อยอาหารที่ได้รับไปแล้ว หรือ Probiotic + Prebiotic = Postbiotic (by-product) และบางแหล่งข้อมูลอาจรวมถึงจุลินทรีย์ที่ไม่มีชีวิตแล้ว ซึ่งมีสารในเซลล์ตายที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ฟามาไบโอติกส์ (pharmabiotics) คือ สารที่ได้จากโพรไบโอติก มีการตรวจสอบทดลองยืนยันถึงกลไกและผลลัพธ์ทางยารองรับช่วยดูแลสุขภาพหรือรักษาโรค
ซินไบโอติกส์ (Synbiotics) คือ สูตรส่วนผสมโดยออกแบบเลือกโพรไบโอติกและพรีไบโอติกที่ทำหน้าแบบเสริมประสิทธิภาพกัน หรือ synergistic effect (เมื่อมีมากกว่า 1 คู่ มีลักษณะการทำงานอย่างอิสระ) ดูแลร่างกายด้วยประโยชน์ที่ชัดเจนหรือมากขึ้นกว่าเดิม
ผิวหนังมีความซับซ้อนมากกว่าแค่จัดเรียงตัวเซลล์อย่างเป็นระเบียบเพื่อที่จะได้มาซึ่งผิวหนังสุขภาพดีสามารถป้องกันความเสียหายจากสิ่งเร้าภายนอกได้ แต่แท้จริงแล้วเกราะผิวหนังของเรายังถูกครอบครองทั่วทุกพื้นที่ไปด้วยจุลินทรีย์มากมายหลากหลายสายพันธุ์ด้วยความสัมพันธ์แบบพึ่งพากัน (Mutualism) กล่าวคือสิ่งมีชีวิต 2 ชนิด คือ ร่างกายมนุษย์และจุลินทรีย์ดี ต่างฝ่ายต่างได้รับประโยชน์จากการดำรงชีวิตร่วมกัน ถ้าขาดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็จะไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ชุมชนจุลินทรีย์ดีบนผิวเปรียบเสมือนทหารที่ตั้งด่านดูแลความสงบเรียบร้อย ป้องกันไม่ให้จุลินทรีย์แปลกหน้ามารุกรานตั้งถิ่นฐานออกลูกหลานก่อกบฏสร้างโรคทำร้ายร่างกาย อีกทั้งยังช่วยส่งสัญญานกระตุ้นการทำงานภูมิคุ้มกันโดยกำเนิด (Innate Immunity) หรือภูมิคุ้มกันชนิดไม่จำเพาะ ต่อต้านเชื้อก่อโรค หากผิวหนังมีภาวะจุลินทรีย์ดีไม่สมดุล (dysbiosis) ส่งผลให้เกราะผิวหนังถูกรบกวน นำไปสู่การเกิดโรคผิวหนังเรื้อรังได้ เช่น สิว ผื่นแพ้อักเสบ ผิวหนังอักเสบโรซาเซีย และสะเก็ดเงิน เป็นต้น
โพรไบโอติกส์ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจึงมีความสำคัญและยังเป็นที่นิยมด้วยมุมมองเสริมสุขภาพผิวหนัง เช่น ลดการอักเสบ รักษาปัญหาสภาพผิวหลากหลาย โล่กำบังป้องกันผื่นแพ้สัมผัส อีกทั้งเสริมประสิทธิภาพเกราะผิวหนัง การดูดซึมน้ำเข้าผิว ชะลอผิวเสื่อม ขจัดผิวคล้ำเสีย โพรไบโอติกส์ส่วนใหญ่เป็นแบคทีเรียมีหลายกลุ่มหรือตระกูล (Genus) ดังนี้
พรีไบโอติกส์หรืออาหารเลี้ยงเชื้อที่ใส่ในเครื่องสำอาง ส่วนใหญ่เป็นจำพวกคาร์โบไฮเดรต เช่น sugar alcohol (glycerol, xylitol และ mannitol), oligo-saccharides, galacto-oligosaccharides, fructo-oligosaccharides, konjac glucomannan hydrolysates (GMH) ทำหน้าที่เป็นเชื้อเพลิงแหล่งพลังงานให้โพรไบโอติกส์หรือแบคทีเรียดีบนผิวแบ่งตัวเพิ่มจำนวน พร้อมตัวอย่างคุณประโยชน์ต่อสุขภาพ ดังนี้
ยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ก่อโรคแบบแข่งขัน (competitive inhibition) ไร้ความสามารถในการเพิ่มจำนวนยึดพื้นที่ผิว
ใช้พรีไบโอติกส์คาร์โบไฮเดรตในการผลิตสาร (succinic acid หรือ lactic acid) เปลี่ยนสภาวะผิวหนังให้มีความเป็นกรดมากขึ้น ป้องกันจุลินทรีย์ก่อโรคเพิ่มจำนวน พร้อมลดการอักเสบที่อาจเกิดการเหนี่ยวนำ
กระตุ้นให้เกิดการสังเคราะห์ปล่อยสารเปปไทด์ที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียจากจุลินทรีย์ประจำถิ่นบนผิวหนังหรือกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันร่างกายเพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตสะสมของเชื้อก่อโรค
นอกจากนี้ยังมีรายงานการศึกษาตรวจพบใน in vivo และ in vitro เมื่อ glycerol (prebiotic) ถูกหมักกับ S. epidermidis (probiotic แบคทีเรียผิว) เกิดการผลิตกรดไขมันสั้น เช่น succinic acid ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตและการอักเสบจาก C. acne แบคทีเรียที่ทำให้เกิดสิวรุนแรงได้ ในการศึกษา in vivo และ in vitro เส้นใย Glucomannan คาร์โบไฮเดรตที่เกิดจากองค์ประกอบของน้ำตาลกลูโคสและแมนโนส เป็นพรีไบโอติกส์จากต้นบุก ช่วยปรับสภาพผิวหนังให้ดูสุขภาพดีขึ้นจากผิวที่มีปัญหาระดับสิวเล็กน้อย-ปานกลาง ในอาสาสมัครผู้หญิง อีกทั้งเมื่อรวมประสิทธิภาพการทำงานกับ Collagen tripeptide F ให้ผลลัพธ์ปรับปรุงองค์รวมของผิวดีทั้งเกราะผิวหนัง ความชุ่มชื้น และควบคุมจำนวนแบคทีเรียเห็นประโยชน์ของจุลินทรีย์ของผิวแล้ว ก็อย่าลืมดูแลเพื่อนตัวจิ๋วที่มองไม่เห็นที่กำลังทำงานปกป้องผิวให้เราอยู่ตลอดเวลาอย่างขะมักเขม้นนะคะ ไม่ว่าจะผ่านการเลือกทานอาหารที่เป็นประโยชน์ การพักผ่อนให้เพียงพอ หรือผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่เสริมความแข็งแรงให้เหล่าน้องจุลินทรีย์ เพื่อสุดท้ายมีผิวสวยสมดุลตามกลไกธรรมชาติ