Last updated: 13 ม.ค. 2564 | 11047 จำนวนผู้เข้าชม |
การสร้างแบรนด์เป็นของตัวเอง มีรายละเอียดปลีกย่อยมากมายที่ควรรู้ หนึ่งในนั้น คือ การตั้งชื่อแบรนด์ หลายคนคงรู้อยู่แล้วว่าชื่อแบรนด์ที่ดีจะต้อง ‘โดนใจ’ ตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้ฟัง แต่การจะตั้งชื่อแบรนด์ให้โดนใจนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งยังมีปัจจัยอีกหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้องและต้องคำนึงถึง เช่น อัตลักษณ์ของแบรนด์ ชนิดของสินค้าหรือบริการ กลุ่มเป้าหมายที่ต้องสื่อสารด้วย ฯลฯ แม้จะฟังดูยุ่งยากไปซักหน่อย แต่อย่าเพิ่งกังวลไปค่ะ เทคนิคการตั้งชื่อแบรนด์ที่เรานำมาฝากคุณในวันนี้ จะช่วยให้คุณได้ชื่อแบรนด์ที่ใช่ และโดนใจลูกค้าอย่างแน่นอน
1. ตั้งชื่อแบรนด์ให้กว้างและเป็นกลาง รองรับการเติบโตของธุรกิจในอนาคต
ชื่อแบรนด์ที่ดีควรเป็นชื่อที่ใช้ได้นาน การตั้งชื่อแบรนด์ จึงควรเลือกใช้คำที่มีความหมายกว้างๆ ไม่เฉพาะเจาะจงจนเกินไป เผื่อว่าในอนาคตข้างหน้า คุณอยากเพิ่มชนิดสินค้าให้หลากหลายหรือขยับขยายธุรกิจขึ้นมา จะได้ไม่ต้องเสียเวลาเปลี่ยนชื่อแบรนด์ใหม่ ยกตัวอย่างง่ายๆ ให้เห็นภาพ เช่น หากคุณอยากขายสินค้าสำหรับแมว จึงเลือกตั้งชื่อแบรนด์ว่า Happy Cat แต่เมื่อเวลาผ่านไป คุณอยากเพิ่มสินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยงชนิดอื่นเข้ามาด้วย ชื่อ Happy Cat อาจไม่ครอบคลุม และดูจำเพาะเจาะจงเกินไป ลูกค้าจะไม่สามารถรับรู้ได้ว่าคุณมีมีสินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยงชนิดอื่นๆ นอกจากแมวด้วย แต่หากคุณใช้ชื่อแบรนด์ว่า Happy Pets ชื่อนี้จะครอบคลุมสินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยงได้ทุกประเภท ทำให้คุณสามารถขยายธุรกิจและเพิ่มไลน์อัพสินค้าได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนชื่อแบรนด์ใหม่นั่นเอง
อีกหนึ่งอย่างที่ต้องคำนึงถึง คือ ภาษาที่ใช้ในการตั้งชื่อแบรนด์ หากคุณมีความตั้งใจอยากพาธุรกิจของคุณให้ไปไกลถึงต่างประเทศ การตั้งชื่อแบรนด์เป็นภาษาอังกฤษจึงตอบโจทย์มากกว่า
2. ตั้งชื่อแบรนด์ให้ง่ายเข้าไว้
ชื่อแบรนด์ที่ง่าย จะง่ายต่อการจดจำของผู้คนเช่นกัน ไปดูกันดีกว่าค่ะว่า การจะตั้งชื่อแบรนด์ง่ายๆ ต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง
2.1 ตั้งชื่อแบรนด์ให้สะกดง่าย
ชื่อแบรนด์ที่สะกดง่าย ไม่ซับซ้อน จะช่วยให้ลูกค้าค้นหาข้อมูลสินค้าหรือบริการของเราจากอินเทอร์เน็ตได้ง่าย ชื่อแบรนด์ที่ดีต้องทำให้คนทั่วไปสามารถเดาได้ว่าชื่อแบรนด์ของคุณจะต้องเขียนหรือสะกดแบบไหนเพียงแค่ได้ยินผ่านหู
2.2 ตั้งชื่อแบรนด์ให้ออกเสียงง่าย
การออกเสียงก็สำคัญไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นชื่อแบรนด์ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ หรือภาษาอื่นๆ ควรเป็นคำที่ใครๆ ก็สามารถอ่านออกเสียงได้เหมือนกันหมด หากชื่อแบรนด์ของคุณอ่านยากเกินไป จะทำลูกค้าไม่กล้าออกเสียง หรือกลัวออกเสียงผิด เมื่อเป็นเช่นนี้ อาจทำให้คุณเสียโอกาสที่ลูกค้าจะแนะนำแบรนด์ต่อนั่นเองค่ะ
2.3 ตั้งชื่อแบรนด์ให้นำไปต่อยอดเป็นโลโก้ได้ง่าย
ชื่อแบรนด์ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในโลโก้ ก่อนตั้งชื่อจึงควรคำนึงว่าคำที่เราเลือกนั้นจะสามารถนำไปออกแบบเป็นโลโก้ และสามารถจัดวางให้สวยงาม โดดเด่นได้หรือไม่ ดังนั้นชื่อแบรนด์จึงไม่ควรยาวเกินไป คุณอาจลองยึดตามกฎสากลของการตั้งชื่อแบรนด์ คือ ‘6 ตัวอักษร 3 พยางค์’ จะช่วยให้ชื่อกระชับ จำง่าย ติดปาก และนำไปต่อยอดออกแบบเป็นโลโก้ได้ง่ายอีกด้วย
3. ชื่อแบรนด์ที่ดีต้องแตกต่างจากชื่อแบรนด์ของคู่แข่ง
ชื่อที่แตกต่างจะทำให้แบรนด์ของคุณโดดเด่น หากคุณตั้งชื่อแบรนด์คล้ายกับชื่อของคู่แข่งมากเกินไป อาจทำให้ลูกค้าสับสน ไม่สะดุดตา และยังอาจส่งผลถึงภาพลักษณ์ของแบรนด์ว่าเป็นแบรนด์เลียนแบบ การตั้งชื่อแบรนด์ให้แตกต่างจากคู่แข่ง สิ่งแรกที่ต้องทำคือศึกษาข้อมูลของคู่แข่งและรวบรวมลิสต์รายชื่อของแบรนด์ที่ขายสินค้าใกล้เคียงกัน นอกจากจะนำมาเป็นตัวอย่างแล้ว ยังทำให้คุณมองเห็นภาพรวมของธุรกิจที่คุณกำลังจะลงแข่งขันได้อีกด้วย
4. สโลแกนสินค้าที่ดีก็สำคัญไม่แพ้กับการตั้งชื่อแบรนด์
สโลแกนสินค้า จะปรากฎอยู่บนฉลาก บรรจุภัณฑ์ เว็บไซต์ ทั้งยังสามารถนำไปใช้ในการเขียนคำโฆษณาได้ สโลแกนที่ดีจะช่วยส่งเสริมให้ชื่อแบรนด์น่าจดจำมากยิ่งขึ้น สโลแกนต้องบอกได้ว่าธุรกิจของคุณเกี่ยวข้องกับอะไร ข้อดีของสินค้าและบริการคืออะไร ควรเป็นคำสั้นๆ กระชับ แต่สามารถสื่อความหมายได้ ที่สำคัญคือต้องโดดเด่น ไม่ซ้ำใคร และควรเป็นสโลแกนเชิงบวกเพื่อสร้างความรู้สึกดีๆ ให้กับผู้ฟัง ตัวอย่างสโลแกนสินค้าที่ถือว่าประสบความสำเร็จ ที่ทำให้ผู้คนสามารถจดจำชื่อแบรนด์กับสโลแกนไปพร้อมๆ กันได้ เช่น
· โก๋แก่ มันทุกเม็ด
· ยาหม่องตราถ้วยทอง มิตรคู่เรือน เพื่อนคู่ตัว
· ทุกหยดซ่า โซดาสิงห์
· ธนาคารกสิกรไทย บริการทุกระดับ ประทับใจ
· การบินไทย รักคุณเท่าฟ้า
5. ชื่อแบรนด์แบบไหนที่ใครๆ ก็ส่ายหน้า
จากเทคนิคการตั้งชื่อแบรนด์ให้ปัง มาดูกันดีกว่าค่ะว่า การตั้งชื่อแบรนด์แบบไหนที่ควรหลีกเลี่ยง
· ชื่อแบรนด์ที่สะกดแปลกๆ อาจจะดูเท่ ไม่ซ้ำใคร แต่ก็จดจำยากเช่นเดียวกัน
· ชื่อแบรนด์เลียนแบบหรือใกล้เคียงกับชื่อของคู่แข่ง
· ชื่อแบรนด์ที่เห็นแล้วเดาไม่ออกว่าสินค้าหรือบริการนั้นคืออะไร
· ชื่อแบรนด์ที่ออกเสียงยาก หรือสามารถอ่านได้หลายแบบ ทำให้สับสน
· ชื่อแบรนด์ที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อทางศาสนา หรือเกี่ยวข้องกับค่านิยมเฉพาะกลุ่ม
19 ธ.ค. 2567